ReadyPlanet.com


ผู้สนใจ ต้องการรู้เรื่องเห็ด ผู้เพาะเห็ดมีปัญหา ถามได้ทุกเรื่อง


         สำหรับผู้ที่มีความสนใจ ในทุกๆเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเห็ด ตั้งแต่การกินเห็ด การรู้จักชนิดของเห็ด อุปนิสัยของเห็ดแต่ละชนิด วิธีการเพาะเห็ด การเลือกวัตถุดิบ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ การใช้อาหารเสริม การดูแลจัดการฟาร์มเห็ด การผลิตเชื้อเห็ด ปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่พบ

         ผมมีความคิดเห็นว่า น่าจะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับเห็ด ซึ่งควรใช้หน้าเวบบอร์ดของสมาคมฯให้เป็นประโยชน์ เนื่องจากสมาคมฯมีสมาชิกที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ ทั้งในด้านงานวิจัย และทำฟาร์มเห็ดอยู่หลายท่าน สามารถให้คำปรึกษา ถ่ายทอดประสบการณ์ ตอบคำถาม เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆได้

         การพูดคุยกันในเรื่องเห็ด เป็นสิ่งที่ดี พูดคุยกันอย่างมีสติ ไม่มีอคติต่อกัน ไม่คุยเรื่องในอดีตและอนาคต คุยกันเฉพาะในปัจจุบัน เพราะว่าความก้าวหน้าทางวิทยาการ วิชาการ เทคโนโลยี รวดเร็วมาก เราคุยกันชั่วโมงนี้ วันนี้ คิดว่าเป็นสิ้งที่ถูกต้องดีที่สุดแล้ว แต่ในชั่วโมงหน้า หรือวันถัดไป อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นไปได้

         ผมขอเป็นผู้อาสา แสดงความคิดเห็น ตอบคำถามต่างๆ ถ้าคิดว่าพอมีความรู้ตอบได้ ตามหลักวิชาการ และประสบการณ์ ถ้ามีคำถามที่ไม่มีความรู้พอที่จะตอบ จะพยายามติดต่อสอบถามท่านที่รู้ ให้ตอบ หรือนำคำบอกเล่าจากท่าน มาตอบแทน ผมไม่มีอะไรจะขาย และไม่มีความคิดที่จะนำของมาขายในเวบบอร์ดนี้ ไม่ต้องการมีชื่อเสียงหรืออยากดัง มีความบริสุทธิ์ใจพอ และจะมีความสุขมากเมื่อวงการเห็ดมีการพัฒนามากขึ้น มีคนกินเห็ดมากขึ้น มีผู้สนใจเพาะเห็ดอย่างยั่งยืนมากขึ้น

         ถ้ามีปัญหาหรือคำถาม เขียนถามมาได้เลยครับไม่ต้องอาย คำถามที่เขียนมาอาจจะเป็นคำถามที่ติดค้างในใจอีกหลายคนที่ต้่องการรู้คำตอบเช่นกัน  ท่านที่พบเห็ดแปลกๆ ท่านที่มีประสบการณ์ นำเรื่องเห็ด  มาเล่าสู่กันฟัง เป็นเรื่องที่ดีครับ ถ้าโชคดีอาจจะพบเห็ดสายพันธุ์ใหม่ในประเทศเราก็อาจเป็นไปได้

        หน้าเวบบอร์ดนี้ เป็นของสมาคมฯ ซึ่งเปิดกว้างให้กับสมาชิกและผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ใช้ก็จะไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันใช้แสดงความคิดเห็นให้มากๆ จะเกิดประโยชน์กับวงการเห็ดอย่างมากมาย ขอเชิญชวนมาใช้กันมากๆครับ

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ลุงลี (unclelee_cm-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2013-07-13 14:14:14 IP : 49.49.28.1


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3374406)

               เพื่อเป็นการนำร่อง ผมขอนำคำถามที่ถูกถามเสมอ ซึ่งมักจะสร้างปัญหาให้กับผู้เพาะเห็ด คำถามแรกคือ จะเพาะเห็ดชนิดไหนดี คำถามต่อมาคือ ก้อนเชื้อเห็ดเป็นราเขียว ข้อ 3 คือมีหนอนแมลงในก้อนเชื้อเห็ด ข้อ 4คือ เห็ดไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อย ข้อ5คือ มีเชื้อราสีเหลืองเข้าทำลายก้อนเชื้อเห็ด ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดเน่า

                     คำถาม 5 ข้อนี้ เป็นคำถามยอดฮิต ผู้เพาะเห็ดท่านใดเคยพบกับปัญหาเหล่านี้ พบในช่วงใด เกิดขึ้นกับก้อนเชื้อเห็ดจำนวนเท่าใด และข้อสำคัญคือ ท่านได้จัดการแก้ไขโดยวิธีใด เขียนมาเล่าสู่กันบ้าง จะขอบคุณมากครับ

 

 

 

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-07-18 17:45:57 IP : 49.49.26.254


ความคิดเห็นที่ 2 (3374528)

 ผมขอแสดงความคิดเห็นเรื่องราเขียวครับ

          ทำไมเราจึงไม่ต้องการให้มีราเขียวเกิดขึ้นบริเวณวัสดุเพาะเห็ด ให้ราเขียวอยู่ร่วมกับเชื้อเห็ดหรือเส้นใยเห็ดไม่ได้หรือ

ตามความเข้าใจของผมคือ

          1. ราเขียวเป็นจุลินทรีย์ เป็นเชื้อรา เช่นเดียวกับเชื้อเห็ด ดังน้ันราเขียวสามารถกินอาหารจากวัสดุเพาะได้เหมือนกัน พูดง่ายๆก็คือ ราเขียวไปแย่งอาหารจากเห็ด

          2. เส้นใยราเขียวสามารถเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วกว่าเส้นใยเห็ด จึงมีความสามารถแย่งอาหารจากวัสดุเพาะได้มากกว่า

          3. ของเสียหลังจากที่ราเขียวกินอาหารจากวัสดุเพาะแล้วปล่อยออกมา เส้นใยเห็ดไม่ชอบหรือมีพิษ มีผลต่อการเพิ่มจำนวนของเส้นใยเห็ด

          4. ราเขียวทำให้ผลผลิตลดลง หริอได้ดอกเห็ดลดลง ทำให้รายได้ลดลงบางครั้งทำให้ขาดทุน

ราเขียวคิออะไร(จากโรคเห็ด เขียนโดยคุณหญิงประไพศรี พิทักษ์ไพรวัน)

          ราเขียวเป็นเชิ้อราชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าราเขียวนั้น มีหลายชนิด

                1 ราเขียวที่มีสีเขียวมะกอกหรือเขียวเข้มในกลุ่มGreen Mould(Trichoderma,Gliocladium)

                2. ราเขียวที่เห็นเป็นฝุ่นสีซีดๆสีเขียวตองอ่อน สีเหลืองอมเขียว สีเทาอ่อน คือราเขียวPenicilliumหรือ Pacelomyces

                3  ราเขียวมีสีเขียวเข้มเกือบดำคือกลุ่มAspergillus

สังเกตุุอย่างไรว่า มีราเขียวเกิดขึ้นที่ถุงเห็ด

                1 ในขณะที่ราเขียวยังไม่สร้างสปอร์ เส้นใยมีสีขาว สังเกตุได้ เส้นใยจะบางกว่าเส้นใยเห็ด และเดินได้เร็วมาก

                2 เมื่อราเขียวสร้างสปอร์ จะมีสีเขียว ซึ่งอาจมีสีเขียวเข้ม เขียวมะกอก เขียวอ่อนคล้ายฝุ่น แล้วแต่ชนิดของราเขียว

                3  เมื่อราเขียวเจริญเต็มถุง ถุงเห็ดจะเน่า และเริ่มมีสปอร์ของราเขียวฟุ้งกระจายออกมาจากถุงเห็ด

วันนี้ขอแสดงความคิดเห็นของผมเท่านี้ก่อนครับ  ครั้งหน้าจะขอแสดงความคิดเห็นเรื่อง

        - สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดราเขีย

        - เมื่อเกิดราเขียวแล้วจะแก้ไขอย่างไร 

        - ทำอย่างไรจึงไม่ให้เกิดราเขียว                                                                                                                             

        - ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับราเขียว สิ่งที่น่าวิจัย ทดลอง

     

 

 

 

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-07-21 19:01:48 IP : 49.49.26.254


ความคิดเห็นที่ 3 (3374642)

 าเขียวเกิดขึ้นในวัสดุเพาะได้อย่างไร

         1. เกิดจากการที่มีเส้นใยราเขียวในวัสดุเพาะเห็ด เนื่องจากนึ่งฆ่าเส้นใยราเขียวไม่หมด

         2. เกิดจากการที่สปอร์ราเขียวในวัสดุเพาะเห็ด เนื่องจากนึ่งฆ่าสปอร์ราเขียวไม่หมด

         3. เกิดจากการที่มีปัจจัยทีเหมาะสม ได้ความชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสม กับการเจริญเติบโตของราเขียว ทำให้เส้นใยราเขียวหรือสปอร์ราเขียวแตกตัวเป็นเส้นใย เกิดการแบ่งเซลล์เจริญเติบโตได้

         4. เกิดจากการที่มีสปอร์หรือเส้นใยราเขียว ตกลงไปหรือเข้าไปในวัสดุเพาะ หลังการฆ่าเชื้อวัสดุเพาะแล้ว เกิดในขณะที่เราปลูกเชื้อเห็ดลงในก้อนเชื้อ เกิดจากถุงก้อนเชื่อเห็ดมีรอยรั่ว  หรือหลังจากเปิดปากถุงวัสดุเพาะเห็ด โดยเฉพาะช่วงเปิดปากถุงใหม่ จะมีเมล็ดข้างฟ่างที่ใช้ทำหัวเชื้อติดอยู่ เมื่อเราให้ความชื้น ข้างฟ่างจะมีความชื้นมากขึ้น ทำให้มีราเขียวเกิดขึ้นได้ง่าย

         5. เกิดจากมีราเขียวปนเปื้อนอยู่ในหัวเชื้อเห็ด เมื่อนำไปปลูกเชื้อในถุงวัสดุเพาะเห็ด ทำให้มีราเขียวเข้าไปในถุงเห็ดด้วย

         6. เกิดจากมีพาหะนำราเขียวเข้าไปในวัสดุเพาะ พาหะที่เป็นตัวนำมีหลายชนิดเช่น แมลง ไร หนู แมงมุม หอย คน ลมสามารถนำราเขียวเข้าไปในก้อนเชื้อเห็ดหลังเปิดปากถุงได้ 

         7. เกิดจากการนำน้ำหมักที่มีราเขียวปะปนอยู่ ฉีดเข้าไปในถุงก้อนเชื้อเห็ด

         8. มือคนและอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ มีโอกาสได้มากที่จะมีส่วนช่วยแพร่เชื้อราเขียว จากก้อนเชื้อเห็ดที่มีราเขียวไปสู่ก้อนเชื้อเห็ดที่ไม่มีได้ ถ้าไม่ระมัดระวัง

          9. เกิดจากการที่ทิ้งให้มีเศษดอกเห็ด ก้านดอกเห็ดเหลืออยู่ หรือตกอยู่ที่พื้นภายในโรงเปิดดอกเห็ด เมื่อเกิดการเน่าเสีย ราเขียวสามารถเจริญเติบโตในส่วนน้้นได้ ทำให้เพิ่มจำนวนราเขียวในโรงเปิดดอก

        10. น้ำที่ใช้ในการให้ความชื้นก้อนเชื้อเห็ด ถ้าเป็นน้ำที่ไม่สะอาด มีราเขียวปนเปื้อนอยู่ จะเป็นตัวนำราเขียวเข้าสู่ก้อนเชื้อเห็ดได้ ผู้เพาะเห็ดหลายท่านไม่ให้ความสำคัญกับน้ำที่ใช้  ทำให้ได้ผลผลิตลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย(ผมจะขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในโอกาสต่อๆไปครับ)

         ข้อควรระวัง การที่ใส่อาหารเสริมในการทำก้อนเชื้อเห็ดในจำนวนที่มีปริมาณมาก เพื่อต้องการให้ได้ผลผลิตที่มาก ถ้าอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการนึ่งฆ่าเชื้อ และการจัดการฟาร์มไม่ดีพอ จะทำให้มีโอกาสในการเกิดราเขียวได้มาก  

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลงลี วันที่ตอบ 2013-07-24 16:47:32 IP : 223.206.106.35


ความคิดเห็นที่ 4 (3375103)

 ทำอย่างไรจึงไม่ให้เกิดราเขียว

      โอกาสที่เกิดราเขียวในวัสดุเพาะมีมากมายหลายประการ การที่จะทำให้ราเขียวไม่เกิดในวัสดุเพาะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร สิ่งที่เราทำได้คือพยายามลดปริมาณของเส้นใยและสปอร์ราเขียวให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้  การที่จะทำให้ราเขียวเกิดขึ้นในวัสดุเพาะน้อยลง ผมขอแสดงความคิดเห็นตามที่ได้พิจารณาแล้ว ทำอย่างไรจึงไม่ให้เกิดราเขียวมีข้อเล่าสู่กัน 4 หัวข้อ ดังนี้

      1 ถ้าเราสามารถหมักวัสดุเพาะ เช่น ฟางข้าว ขี้เลื่อย หรืออินทรีย์วัตถุอื่นๆ ก่อนที่เราจะนำไปผสมอาหารเสริม จะช่วยลดปริมาณราเขียวได้ระดับหนึ่งเนืองจาก

        1.1 ในการหมักจะเกิดความร้อน ซึ่งสามารถฆ่าราเขียวได้ส่วนหนึ่ง

        1.2 วัสดุเพาะหลังการหมัก เส้นใยเห็ดสามารถใช้เป็นอาหารได้ดี ทำให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้รวดเร็ว

         1.3 ในขณะที่หมักสามารถใส่เชื้อจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งเรียกว่า บาซิลัส ซับซิลิส สายพันธุ์ที่อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ แนะนำคือเชื้อพลายแก้ว ซึ่งเป็นเชื้อแบตที่เรียชนิดหนึ่งที่สามารถทำลายและยังยั้งการเจริญเติบโตของราเขียวได้ อีกทั้งของที่ได้จากการหมักโดยเชื้อชนิดนี้ มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อเส้นใยเห็ด ทำให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้ดี

      2. ขั้นตอนและวิธีการในการทำก้อนเชื้อเห็ด 10 ข้อย่อย

      3. การบ่มและการเปิดดอก 8 ข้อย่อย

      4. การจัดการฟาร์ม การเก็บข้อมูล 10 ข้อย่อย

ข้อ2-4 มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขอแสดงความคิดเห็นในครั้งต่อไปครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-08-01 20:29:09 IP : 223.205.44.166


ความคิดเห็นที่ 5 (3375555)

 ขอแสดงความคิดเห็นต่อ

     ช้อ 2. ขั้นตอนและวิธีการในการทำก้อนเชื้อเห็ด

            2.1 เลือกวัสดุเพาะเฉพาะส่วนที่ดี ไม่มีราเขียว มาใช้ในการทำก้อนเชื้อเห็ดเท่าน้ัน อย่าคิดว่ามีราเขียวติดไปด้วยแล้ว จะนึ่งฆ่าราเขียวได้หมด

           2.2  ใช้อาหารเสริมเช่นรำข้าว กระถินป่น ซังข้าวโพดป่น ที่ใหม่ ไม่เก็บไว้นาน

           2.3 สถานที่ทำก้อนเชื้อเห็ด ต้องสะอาด ควรมีการฆ่าเชื้อทิ้งไว้

           2.4 เมื่อผสมส่วนผสมวัสดุเพาะ อาหารเสริมและอื่นๆแล้ว ไม่ควรทิ้งไว้นาน และควรมีวัสดุคลุมกองไว้เพื่อลดจำนวนราเขียวปนเปื้อนในส่วนผสม

          2.5 เมื่อนำส่วนผสมเข้าบรรจุในถุงพลาสติก ใส่คอขวด ปิดฝาจุกแล้ว ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 ชั่วโมง ควรนึ่งฆ่าเชื้อโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

         2.6 ควรนึ่งให้แน่ใจว่าสามารถฆ่าเชื้อราเขียวได้ โดยจดบันทึก อุณหภูมิ ความดัน เวลาที่ใช้ในการนึ่งทุกคร้ัง และควรตรวจสอบ โดยใช้ก้อนถุงวัสดุเพาะทีี่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว 2 ก้อนต่อการนึ่งแต่ละครั้ง นำไปบ่มโดยไม่ต้องปลูกเชื้อเห็ดลงไป ระยะเวลาประมาณ 20 วัน เพื่อตรวจสอบว่าการนึ่งแต่ละคร้ังสามารถฆ่าราเขียวได้หมด ถ้าไม่มีราเขียวเกิดขึ้นบนก้อนที่ใช้ตรวจสอบ สามารถนำไปนึ่งแล้ว นำไปใช้ได้

         2.7 การนึ่งฆ่าเชื้อมีความสำคัญมาก การนึ่งฆ่าเชื้อแบบเบ็ดเสร็จควบคุมทั้งอุณหภูมิและความดัน ถ้าอุปกรณ์ไม่ดีพอหรือในขั้นตอนไล่อากาศไม่ดีจะเกิดผลเสียมากกว่าการนึ่งแบบปล่อยไอ ไม่ควบคุมความด้น ข้อสำคัญคือ ต้องจับจุดเวลาที่ใช้ในการนึ่ง อุณหภูมิ ความดัน และจำนวนก้อนที่นึ่ง ที่เหมาะสม ที่ทำให้การนึ่งสามารถฆ่าราเขียวได้ต้องจับจุดให้ได้ และต้องควบคุมปฏิบัติโดยเคร่งครัด

        2.8 ห้องเขี่ยเชื้อต้องสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อ การปลูกเชื้อควรทำตามข้ันตอนที่ถูกต้องโดยตลอด ห้ามละเลย ถ้าสามารถปลูกเชื้อในบริเวณที่มีการกรองอากาศบริสุทธิจะดีมาก

        2.9 การลำเลียงก้อนเชื้อเห็ดหลังการปลูกเชื้อแล้ว เข้าสู่ห้องบ่มเชื้อ ควรมีการคลุมป้องกันสปอร์ราเขียวที่อาจจะตกลงที่ปากถุง บนสำลีหรือกระดาษปิดปากถุง และไม่ควรให้ก้อนเชื้อถูกแสงแดดเพราะจะทำให้อุณหภูมิในก้อนสูงขึ้น มีหยดน้ำเกิดขื้นในก้อน มีผลกระทบต่อเชื้อเห็ดหรืออาจเป็นการกระตุ้นราเขียวที่หลงเหลืออยู่ มีการเจริญเติบโตได้

        2.10หลังจากการทำก้อนเชื้อเสร็จทุกครั้ง ต้องล้างอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้และบริเวณทำก้อนให้สะอาด โดยใช้ยาฆ่าเชื้อหรือใช้คลอรีนความเข้มข้น 2,000 ppm.ฉีดพ่น หลังจากล้างเสร็จแล้ว จะช่วยได้มาก

        ต้องคิดเสมอว่า การลดจำนวนราเขียวให้เหลือน้อยที่สุดในทุกข้ันตอน โอกาสที่จะเกิดราเขียวจะลดลงตามด้วย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-08-08 22:08:48 IP : 223.206.230.13


ความคิดเห็นที่ 6 (3375556)

 ขอแสดงความคิดเห็นต่อ

     ช้อ 2. ขั้นตอนและวิธีการในการทำก้อนเชื้อเห็ด

            2.1 เลือกวัสดุเพาะเฉพาะส่วนที่ดี ไม่มีราเขียว มาใช้ในการทำก้อนเชื้อเห็ดเท่าน้ัน อย่าคิดว่ามีราเขียวติดไปด้วยแล้ว จะนึ่งฆ่าราเขียวได้หมด

           2.2  ใช้อาหารเสริมเช่นรำข้าว กระถินป่น ซังข้าวโพดป่น ที่ใหม่ ไม่เก็บไว้นาน

           2.3 สถานที่ทำก้อนเชื้อเห็ด ต้องสะอาด ควรมีการฆ่าเชื้อทิ้งไว้

           2.4 เมื่อผสมส่วนผสมวัสดุเพาะ อาหารเสริมและอื่นๆแล้ว ไม่ควรทิ้งไว้นาน และควรมีวัสดุคลุมกองไว้เพื่อลดจำนวนราเขียวปนเปื้อนในส่วนผสม

          2.5 เมื่อนำส่วนผสมเข้าบรรจุในถุงพลาสติก ใส่คอขวด ปิดฝาจุกแล้ว ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 ชั่วโมง ควรนึ่งฆ่าเชื้อโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

         2.6 ควรนึ่งให้แน่ใจว่าสามารถฆ่าเชื้อราเขียวได้ โดยจดบันทึก อุณหภูมิ ความดัน เวลาที่ใช้ในการนึ่งทุกคร้ัง และควรตรวจสอบ โดยใช้ก้อนถุงวัสดุเพาะทีี่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว 2 ก้อนต่อการนึ่งแต่ละครั้ง นำไปบ่มโดยไม่ต้องปลูกเชื้อเห็ดลงไป ระยะเวลาประมาณ 20 วัน เพื่อตรวจสอบว่าการนึ่งแต่ละคร้ังสามารถฆ่าราเขียวได้หมด ถ้าไม่มีราเขียวเกิดขึ้นบนก้อนที่ใช้ตรวจสอบ สามารถนำไปนึ่งแล้ว นำไปใช้ได้

         2.7 การนึ่งฆ่าเชื้อมีความสำคัญมาก การนึ่งฆ่าเชื้อแบบเบ็ดเสร็จควบคุมทั้งอุณหภูมิและความดัน ถ้าอุปกรณ์ไม่ดีพอหรือในขั้นตอนไล่อากาศไม่ดีจะเกิดผลเสียมากกว่าการนึ่งแบบปล่อยไอ ไม่ควบคุมความด้น ข้อสำคัญคือ ต้องจับจุดเวลาที่ใช้ในการนึ่ง อุณหภูมิ ความดัน และจำนวนก้อนที่นึ่ง ที่เหมาะสม ที่ทำให้การนึ่งสามารถฆ่าราเขียวได้ต้องจับจุดให้ได้ และต้องควบคุมปฏิบัติโดยเคร่งครัด

        2.8 ห้องเขี่ยเชื้อต้องสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อ การปลูกเชื้อควรทำตามข้ันตอนที่ถูกต้องโดยตลอด ห้ามละเลย ถ้าสามารถปลูกเชื้อในบริเวณที่มีการกรองอากาศบริสุทธิจะดีมาก

        2.9 การลำเลียงก้อนเชื้อเห็ดหลังการปลูกเชื้อแล้ว เข้าสู่ห้องบ่มเชื้อ ควรมีการคลุมป้องกันสปอร์ราเขียวที่อาจจะตกลงที่ปากถุง บนสำลีหรือกระดาษปิดปากถุง และไม่ควรให้ก้อนเชื้อถูกแสงแดดเพราะจะทำให้อุณหภูมิในก้อนสูงขึ้น มีหยดน้ำเกิดขื้นในก้อน มีผลกระทบต่อเชื้อเห็ดหรืออาจเป็นการกระตุ้นราเขียวที่หลงเหลืออยู่ มีการเจริญเติบโตได้

        2.10หลังจากการทำก้อนเชื้อเสร็จทุกครั้ง ต้องล้างอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้และบริเวณทำก้อนให้สะอาด โดยใช้ยาฆ่าเชื้อหรือใช้คลอรีนความเข้มข้น 2,000 ppm.ฉีดพ่น หลังจากล้างเสร็จแล้ว จะช่วยได้มาก

        ต้องคิดเสมอว่า การลดจำนวนราเขียวให้เหลือน้อยที่สุดในทุกข้ันตอน โอกาสที่จะเกิดราเขียวจะลดลงตามด้วย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-08-08 22:10:58 IP : 223.206.230.13


ความคิดเห็นที่ 7 (3375948)

 ขอแสดงความคิดเห็นเฉพาะตัวต่อ

ทำอย่างไรจึงไม่เกิดราเขียว

ข้อ3.  การบ่มและการเปิดดอก

      3.1 ห้องบ่มก้อนเชื้อหรือโรงเรือนบ่มก้อนเชื้อ โรงเรื่อนเปิดดอก ต้องสะอาดมีการถ่ายเทอากาศได้ดี ควบคุมอุณหภูมิได้ น้ำไม่ขัง และต้องสามารถป้องกันศัตรูเห็ดได้ ศัตรูเห็ดบางชนิดเช่นหนู หอย แมลง ไร เป็นตัวพาหะนำราเขียวเข้าสู่ก้อนเชื้อเห็ด ในขณะบ่มก้อนเชื้อเห็ดต้องมั่นตรวจดูว่ามีก้อนเชื้อที่เป็นราเขียวหรือไม่ ถ้ามีต้องรีบแยกไปจัดการนึ่งใหม่หรือกำจัดโดยเร็ว

      3.2 ก่อนเปิดปากถุงในโรงเรือนเปิดดอก ต้องแน่ใจว่า เชื้อเห็ดเดินเต็มถุงในปริมาณที่อิ่มตัวแล้วพอสมควร ถ้าเปิดก่อนในขณะที่เชื้อเห็ดยังอ่อนอยู่หรือแก่เกินไปจะแข่งขันสู้ราเขียวไม่ได้ ก้อนเชื้อเห็ดบางชนิด จะมีการสร้างหนังเพื่อป้องกันตัวเชื้อเห็ดเอง ต้องศึกษาวิธีเปิดโดยละเอียด และปฏิบัติตาม อย่าใจร้อน

      3.3 การรดน้ำหรือการให้น้ำในโรงเปิดดอก ควรใช้น้ำสะอาด ปราศจากราเขียว(น้ำที่ใช้ในฟาร์มเห็ดมีความสำคัญมาก ควรนำไปตรวจ สารเคมีบางอย่างที่มีอยู่ในน้ำเส้นใยเห็ดไม่ชอบ น้ำในบ่อ ลำธาร น้ำบาดาลบางแห่งมีเชื้อรา แบดทืเรีย ปะปนอยู่มาก)

      3.4 เวลาเก็บดอกเห็ด ควรเก็บดอกเห็ดที่สมบูรณ์ให้เสร็จก่อน แล้วจึงเก็บดอกเห็ดที่ไม่สมบูรณ์มีศัตรูเห็ดทำลายทีหลัง ถ้าเราเก็บพร้อมกันจะเป็นการนำโรคหรือแพร่เชื้อโรคไปสู่ก้อนที่สมบูรณ์ได้ เมื่อพบก้อนเชื้อเห็ดที่เป็นราเขียวตต้องแยกออกไปจากโรงเปิดดอกเพื่อรักษาหรือกำจัด (คนเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นพาหะแพร่เชื้อ คนที่เข้าไปในโรงเปิดดอกควรสะอาดปราศจากเชื้อโรค แมลง และไรศัตรูเห็ด)

      3.5  เมื่อเก็บดอกเห็ดเสร็จแล้ว อย่าปล่อยให้มีเศษดอกเห็ดเหลืออยู่ หรือตกที่พื้นในโรงเรือนเปิดดอก ควรเก็บและทำให้สะอาด(มีงานวิจัยพบว่าการปล่อยให้มีเศษเห็ดตกอยู่ที่พื้น เมื่อเห็ดเน่าแล้วเกิดโรคและเป็นตัวล่อให้แมลงเข้าโรงเห็ด ทำให้เกิดการสูญเสีย รายได้ลดลง 20% 

      3.6 การเก็บก้อนเชื้อเห็ดไว้นานเกินควร จะเป็นแหล่งสะสมโรค แมลง ศัตรูเห็ด รวมทั้งราเขียวด้วย ได้ไม่คุ้มเสีย

      3.7 เศษที่เหลือจากการตัดแต่งดอกเห็ดแล้ว ควรเก็บไปทิ้งให้ไกลจากฟาร์ม และบริเวณตัดแต่งต้องสะอาด ไม่มีเศษเห็ดหลงเหลืออยู่หรือตกที่พื้น ถ้าสามารถทำได้ บริเวณตัดแต่งดอกเห็ดควรป้องกันแมลงได้(กลิ่นดอกเห็ดแมลงชอบมาก แมลงจะมาตอมและอาจหลงเข้าไปในโรงเปิดดอกได้)

      3.8 ก้อนเชื้อเห็ดที่หมดอายุแล้ว ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทิ้งไว้ข้างโรงเรือน หรือภายในฟาร์ม ควรนำไปทิ้งให้ไกลจากฟาร์มอย่างน้อย 1.5 กิโลเมตร

 

 

 

      

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-08-15 18:33:44 IP : 223.205.120.45


ความคิดเห็นที่ 8 (3376082)

 ขอแสดงความคิดเห็นเฉพาะตัวต่อ  ทำอย่างไรจึงไม่ให้เกิดราเขียว

    ข้อ 4 การจัดการและการจดบันทึก

จัดการฟาร์มที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์

จดบันทึกเพื่อเป็นข้อมูล ในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในฟาร์มและการวางแผนงานในอนาคต

      4.1 การวางผังโดยดูจากทางเข้าออก ทิศ ทางลม การทำงานแบบไปทางเดียว จะช่วยป้องกันราเขียวได่้มาก โดยกำหนดส่วนที่สะอาดน้อยสุดควรอยู่ท้ายลม และควรอยู่ใกล้ทางออกของฟาร์ม

      4.2 กำหนดตารางเวลาในการผลิต การทำความสะอาด วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ บริเวณทำก้อน โรงบ่มก้อน โรงเปิดดอก

      4.3 มีการอบรมให้ความรู้บุคลากรในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ 

      4.4 จดบันทึกข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นประจำวัน และนำข้อผิดพลาดน้ันบอกกล่าวกับบุคคลากรโดยด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดซ้ำอีก(ในฟาร์มผมใช้วิธีประชุมตอนเช้าประมาณ 10 นาที ก่อนเข้าปฏิบัติงาน ผมเรียกว่า พร้อม)

      4.5 จดบันทึกวัตถุดิบที่นำเข้ามาใช้ในฟาร์มอย่างละเอียด และทำเครื่องหมาย บันทึก จำนวน วัน เวลา ที่วัตถุดิบเข้า เพื่อที่จะนำส่วนที่เข้ามาในฟาร์มก่อน นำไปใช้ก่อน

       4.6 เชื้้อเห็ดที่ใช้ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า ไม่มีราเขียวปนเปื้อน (ผมใช้วิธีเขย่าเชื้อข้างฟ่างก่อนใช้ 1 วัน ถ้าเชื้อราเขียวฝังตัวอยู่ภายใน จะแสดงผลออกมา) และต้องจัดการให้มีสถานที่สะอาดใช้พักเชื้อเห็ดที่สามารถป้องกันเชื้อเห็ดได้

       4.7 ปัจจัยหลัก 4 ปัจจัยที่สำคัญกับการออกดอกของเห็ดคือ แสง อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณอากาศออกซิเจน ต้องมีการจดบันทึกในทุกโรงเรือนเปิดดอกทุกวัน (ผมจดบันทึกเวลา 8.00, 14.00 ,17.00 น.)

       4.8 จัดการพาหะที่มีโอกาสทำให้เกิดราเขียว ต้องรู้ชนิดและปริมาณศัตรูเห็ดที่เป็นพาหะทำให้เกิดราเขียว(ควรมีกาวเหนียวดักแมลง เพื่อตรวจดูว่า มีแมลงชนิดไหนบ้าง) เมื่อพบก้อนเชื้อเห็ดที่ถูกราเขียวเข้าทำลาย ต้องรีบจัดการโดยทันที ถ้าเป็นขั้นต้นสามารถนำไปฆ่าเชื้อใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นมากต้องกำจัดโดยทันที ห้ามปล่อยทิ้งไว้

       4.9 การให้ความชื้นโดยการรดน้ำจากด้านบนก้อนเชื้อเห็ด หรือการใช้สปริงเกอร์โดยน้ำจากด้านบนไหลลงสู่ก้อนเชื้อเห็ดด้านล่าง ถ้ามีก้อนเชื้อเห็ดด้านบนเป็นราเขียว สามารถแพร่ให้ก้อนเชื้อเห็ดด้านล่างเป็นราเขียวได้ การจัดการให้ความชื้นที่ถูกต้อง สามารถช่วยได้

       4.10 การพักโรงเรือนเปิดดอกหลังนำก้อนเห็ดเก่าออกและทำความสะอาดแล้ว เป็นสิ่งที่ควรทำ เป็นการตัดวงจรชีวิตของพาหะและราเขียว ถ้าเป็นไปได้ ควรเพาะเห็ดที่สามารถเจริญเติบโตแข่งกับราเขียวสลับหมุนเวียนบ้าง จะเป็นการดี

        การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ความสะอาดของอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ห้อง โรงเรือน และความสะอาดของบุคคลากร เป็นหัวใจของการทำฟาร์มเห็ด ต้องทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-08-17 21:41:05 IP : 49.49.49.81


ความคิดเห็นที่ 9 (3376114)

 เมื่อเกิดราเขียวแล้วจะแก้ไขอย่างไร ผมขอแสดงความคิดเห็นเฉพาะตัวดังนี้

     ผมขอแยกการเข้าทำลายโดยราเขียวเป็น 3 ขั้น ดังนี้

ขั้นแรก - ราเขียวเริ่มเข้าทำลายก้อนเชื้อเห็ดในลักษณะยังเป็นเส้นใย ยังไม่มีการสร้างสปอร์

ขั้นที่ 2 - ราเขียวเข้าทำลายก้อนเชื้อเห็ดเป็นบริเวณ มีการสร้างสปอร์แล้ว แต่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของก้อนเชื้อเห็ด

ขั้นที่ 3 - ราเขียวเข้าทำลายก้อนเชื้อเห็ด มีการสร้างสปอร์แล้วมากกว่าครึ่งก้อน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-08-18 20:22:42 IP : 49.49.49.81


ความคิดเห็นที่ 10 (3376116)

 วิธีการแก้ไขเมื่อเกิดราเขียวในก้อนเชื้อเห็ด แต่ละฟาร์มมีวิธีการแก้ไขต่างกัน ผมใช้วิธีดังนี้

      1. ตรวจก้อนเชื้อเห็ดหลังการปลูกเชื้อเห็ดลงในก้อนเชื้อเห็ดอย่างสม่ำเสมอ ในระยะ 7 - 10 วันแรก ถ้าพบว่ามีเส้นใยที่ไม่ใช่เส้นใยเห็ด(สังเกตุจาก เส้นใยจะเดินนอกกลุ่มเส้นใยเห็ด จะเดินเร็วและบางกว่าเส้นใยเห็ดในก้อนเชื้อเห็ด)  ให้นำออกจากที่บ่มก้อน แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อซ้ำแล้วปลูกเชื้อเห็ดใหม่ ก่อนนำไปนึ่งควรครวจดูว่าถุงเห็ดมีรอยรั่ว หรือแตก ถ้ามี ใช้เทปใสที่ใช้ปิดกล่องปิดทับรอยร้่ว

      2. ในกรณีที่ตรวจพบเส้นใยเชื้อราที่ไม่ใช่เชื้อเห็ด เข้าทำลายบริเวณก้นถุงหรือรอยรั่วของถุง เป็นบริเวณที่ไม่กว้างนัก และเชื้อเห็ดส่วนบนของถุงเดินดี แข็งแรง ผมใช้วิธีฉีดคลอรีน 2,000ppm.เฉพาะจุด ฉีดคลุมบริเวณที่พบ ต้องใช้ความชำนาญและการสังเกตุพอสมควร

      3. ถ้าพบราเขียวเข้าทำลายในข้ันที่สอง ซึ่งมักจะพบในช่วงเปิดปากถุงเห็ดใหม่ๆเพื่อให้เห็ดออกดอก ให้นำก้อนเชื้อเห็ดออกจากโรงเปิดดอกเพื่อแยกไปจัดการ(พ่นคลอรีน 2,000ppm. บริเวณนั้นด้วย) นำก้อนเชื้อเห็ดหลังการจัดการแล้วไปไว้ที่ใหม่ วิธีการจัดการมีดังนี้

        3.1 ถ้ามีราเขียวคลุมทำลายหน้าก้อนเชื้อเห็ดไม่เกิน 1 ใน 3 ส่วน ผมจะใช้วิธีตัดก้อนเชื้อเห็ดส่วนที่เป็นราเขียวทิ้ง เหลือส่วนที่ไม่เป็นราเขียวไว้เปิดดอก

       3.2 ถ้ามีราเขียวทำลายในลักษณะกระจาย แต่หน้าก้อนยังดีอยู่และทำลายไม่ถึงครึ่งหนึ่งของก้อนเชื้อเห็ด ผมใช้วิธีกรอกน้ำคลอรีนความเข้มข้น 200 ppm.ลงในถุงเห็ดจนเต็ม ทิ้งไว้พออิ่มตัวแล้วจึงเทน้ำคลอรีนทิ้ง

       3.3 การฉีดพ่นด้วยเชื้อพลายแก้ว(บาซิลัส ซับซิลิส)หรือการทำให้ก้อนเชื้อเห็ดมีความชื้นลดลง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ โดยเฉพาะเห็ดหอม

       3.4 ถ้าพบราเขียวในขั้นที่สอง หลังจากเปิดดอกเห็ด 3-4 รุ่นแล้ว ผลผลิตที่ได้จะไม่คุ้มกับการจัดการ

     4. ถ้าพบราเขียวเข้าทำลายขั้นที่สาม โอกาสที่จะได้ดอกเห็ดมีน้อยมาก ควรนำก้อนไปทิ้ง

            ในกรณีที่พบราเขียวเกิดขึ้นในโรงบ่มหรือโรงเปิดดอกจำนวนมากกว่า 10%ต้องตรวจสอบก้อนที่ใช้เป็นตัวทดสอบ(หลังการนึ่งก้อน เก็บก้อน 2 ก้อนไว้ในโรงบ่ม โดยไม่ต้องปลูกเชื้อเห็ด) ต้องตรวจดูข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่การนึ่ง อุณหภูมิ เวลาที่ใช้นึ่ง ตรวจเชื้อเห็ด อุณหภูมิในโรงบ่ม โรงเปิดดอก พาหะนำโรคประเภทและจำนวน เพื่อหาจุดที่ทำให้เกิดราเขียวและทำการแก้ไข

            การแก้ไขหลังจากเกิดราเขียวแล้ว ทำได้น้อย วิธีที่ผมใช้แก้ไขได้ผลประมาณ 60 -70%เท่าน้้น แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-08-18 21:11:54 IP : 49.49.49.81


ความคิดเห็นที่ 11 (3376337)

 ผมมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับราเขียวเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะตัวดังนี้

   -  การนึ่งแบบปล่อยความดัน(พาสเจอไรซ์)มีส่วนช่วยทำให้อัตราการเกิดราเขียวลดลง สันนิษฐานว่า แก็สพิษที่อยู่ในก้อนเชื้อเห็ดถูกไล่ออกได้มาก หรืออาจจะมีเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถทนร้อนได้ หลงเหลืออยู่และเป็นปฏิปักษ์กับราเขียว เป็นประโยชน์ต่อเชื้อเห็ด

   -  ในต่างประเทศที่มีอากาศเย็น ไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องราเขียวในช่วงบ่มก้อน เข้่าใจว่าราเขียวไม่ชอบอากาศเย็น ผมจึงใช้วิธีบ่มก้อนเชื้อเห็ดที่อุณหภูมิ 25 องศาเซนติเกรด ปรากฎว่าปัญหาเรื่องราเขียวลดลงมาก

   -  การบ่มก้อนหรือการเปิดดอก ที่มีการหมุนเวียนของอากาศน้อย อบอ้าว มีโอกาสเกิดราเขียวได้มาก

   -  ผมเคยทดลองใช้ยาฆ่าเชื้อรา(คาเบนตาซิม)ฉีดตรงที่เป็นราเขียว ปรากฎว่า ได้ผลดีกว่าการใช้คลอรีน แต่ไม่กล้าใช้เพราะกลัวว่ามีสารพิษตกค้างในดอกเห็ด (ผมเคยนำดอกเห็ดที่ได้หลังการใช้ไปตรวจหาสารพิษที่ตรวจผักปลอดสารพิษ ผลที่ได้ไม่พบสารพิษ) ลองกลับมาคิดอีกทีว่าเชื้อเห็ดก็เป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง ไม่น่าจะดูดซึมสารออกฤทธิ์จากยาฆ่าเชื้อราได้  แต่ก็ยังไม่กล้าใช้อยู่ดี นักวิจัยน่าทำการทดลองเรื่องนี้ ถ้าไม่มีสารตกค้าง จะได้นำมาใช้

   -  การใช้เชื้อเห็ดที่ทำจากเมล็ดข้างฟ่าง เมื่อเปิดปากถุงเพื่อเปิดดอกเห็ดแล้ว มีโอกาสเกิดราเขียวได้ง่าย ผมใช้วิธีแคะเมล็ดข้างฟ่างออก ช่วยลดการเกิดราเขียวได้มาก ผมคิดว่าผู้ทำเชื้อเห็ดขาย น่าจะทำเชื้อเห็ดจากขี้เลื่อยขายบ้าง(ลดการทำลายจากหนูด้วย หนูชอบเมล็ดข้าวฟ่าง) หรือมีการพัฒนานำเชื้อเหลวมาใช้(เชื้อเหลวมีข้อดีทำให้เชื้อเดินเร็วกว่าเชื้อข้าวฟ่างมาก)

   -  มีความต้องการรู้ว่า เส้นใย และสปอร์ราเขียว ต้องใช้อุณหภูมิ ความดัน และเวลาที่ใช้ในการนึ่งที่น้อยที่สุดเท่าไรจึงจะฆ่าได้ การนึ่งแบบปล่อยความดันสามารถฆ่าสปอร์ของราเขียวได้หรือไม่ และสปอร์ของราเขียวชอบอุณหภูมิที่เท่าใดในการแตกตัวเป็นเส้นใย

   -  มีสมุนไพรชนิดใดบ้างที่สามารถฆ่าราเขียวได้โดยไม่มีพิษตกค้าง เท่าที่ศึกษา ปรากฎว่าสมุนไพรที่สามารถฆ่าเชื้อราได้ จะรับประทานไม่ได้ จึงไม่กล้านำมาใช้ 

   -  การใช้คลื่นแม่เหล็ก คลื่นไฟฟ้า คลื่นความถี่ รังสี ประจุไฟฟ่า บางชนิดใช้ในการถนอมอาหารได้ น่าจะนำมาใช้ในการควบคุมราเขียวได้ น่าทำการทดลอง

         ข้อคิดเห็นนี้เป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น บางอย่างคิดถูก บางอย่างคิดผิด  ที่ต้องการให้มีการทดลอง ถ้าได้ผลดีจะได้นำไปใช้ 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-08-21 19:49:52 IP : 223.207.1.238


ความคิดเห็นที่ 12 (3557097)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เอส0859811272 (Sclas99-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2013-11-03 01:22:08 IP : 110.169.179.237


ความคิดเห็นที่ 13 (3568227)

 มีข่าวดี ได้รับคำตอบในประเด็นการนึ่งแบบปล่อยความดันสามารถฆ่าสปอร์ราเขียวได้หรือไม่ จากบทความเรื่องการศึกษาชนิดของเชื้อราที่รอดชีวิตในถุงขี้เลื่อยผสมที่ใช้เพาะเห็ดที่ผ่านการฆ่าเชื้อจากฟาร์มเห็ดแหล่งต่างๆและผลการใช้แบดทีเรียสร้างสปอร์ต่อการเพิ่มผลผลิตเห็ดนางรมภูฏานโดย ภควัต เกิดผล อภิรัชต์ สมฤทธิ์ พุฒนา รุ่งระวี และสุรางค์ สุธิราวุธในหนังสือเห็ดไทย 2556 

  จากการผลการทดลองปรากฎว่าขบวนการนึ่งฆ่าเชื้อโดยอบไอน้ำจากฟาร์มของเกษตรกรแหล่งต่างๆทั้งหมด 6 ฟาร์ม โดยตรวจสอบวันที่1และวันที่7 พบเชื้อรารอดชีวิต 61.11%และ83.33% เชื้อราที่พบจำแนกในระดับสกุลได้เป็นMonilia sp.,Penicillium sp.,Trichoderma sp.,Mucor sp.,Gliocladium sp.,และSclerotium sp.รวม 7 สกุล

  ผมขอขอบคุณทีมงานที่ทำการทดลองเป็นอย่างมากที่ไขข้อข้องใจ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรผู้เพาะเห็ด

  การทดลองในครั้งนี้มีการศึกษาผลการใช้แบดทีเรียสร้างสปอร์ต่อการเพิ่มผลผลิตเห็ดนางรมภูฏานด้วย มีประโยชน์ ควรอ่าน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-12-16 06:56:59 IP : 223.206.227.113


ความคิดเห็นที่ 14 (3569244)

 จากผลการทดลองตามความเห็นที่ 13 ผมมีความคิดเห็นว่า การปลูกเชื้อลงในถุงก้อนวัสดุมีความจำเป็น ต้องทำให้เชื้อเห็ดเจริญในวัสดุเพาะให้เร็วที่สุดก่อนที่สปอร์ของเชื้อราแข็งขันจะแตกเป็นเส้นใย 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-12-19 07:22:28 IP : 223.206.227.113


ความคิดเห็นที่ 15 (3569774)

     สิ่งที่ต้องการทราบต่อเนื่องจากการทดลองตามความเห็นที่13 ก็คือ อุณหภูมิมีผลต่อการที่สปอร์ของเชื้อราแข่งขันแตกเป็นเส้นใยหรือไม่ ถ้ามี สปอร์ของเชื้อราแข่งขันสามารถแตกเป็นเส้นใยได้ที่อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดเท่าใด ท่านใดที่ทราบว่ามีการทดลองในเรื่องนี้ หรือทราบในเรื่องนี้ ขอความกรุณาช่วยบอกด้วย ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-12-20 19:16:06 IP : 49.49.52.90


ความคิดเห็นที่ 16 (3569879)

     จากการทดลองตามความเห็นที่13 ทำให้เราทราบว่าการใช้แบดที่เรียสร้างสปอร์เพื่อเป็นปฏิปักษ์กับเชื้อราแข่งขัน สามารถเพิ่มผลผลิตในการเพาะเห็ดนางรมภูฏานได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-12-21 19:36:45 IP : 49.49.52.90


ความคิดเห็นที่ 17 (3569941)

     จากการทดลองตามความเห็นที่13 ใช้วิธีสเปรย์ สปอร์ของแบดที่เรียผสมน้ำที่มีความเข้มข้นของเชื้อประมาณ 10(7)-10(8) cfu/ml ในอัตรา 1-2 mlต่อถุง วันเว้นวันนาน 2 เดือน ระหว่างการเก็บผลผลิต พบว่าสามารถเพิ่มผลผลิตเห็ดนางรมภูฏานได้ โดยแบดทีเรีย Bs พลายแก้ว และ 7A/1(2)ให้ผลดีกว่า S1/1-3 และให้ผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีควบคุมถึง 91 และ 55.4 กรัมต่อถุง

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2013-12-22 20:23:31 IP : 49.49.52.90


ความคิดเห็นที่ 18 (3721101)

 สวัสดีคับ ตอนนี้เพิ่งจะหัดทำก้อนเห็ดนางฟ้าภูฐานครับ  ตอนทำก้อนเสร็จ นึ่งเสร็จ เขี่ยเชื้อ เชื่อก็เดินปกติครับ แต่พอเชื่อเดินใกล้จะถึงก้นก้อนแล้ว ตรงปากก้อนมันกลายเป็นสีดำ ขุย ๆ แล้ว ก็มีแมลงตัวเล็ก คล้าย ๆ หนอนอยู่ข้างในก้อนตรงสีดำ ขุย ๆ  อยากรู้ว่ามันเกิดจากอะไรครับ แล้วจะแก้ได้ไหมครับ ถ้าแก้ต้องแก้ยังไงครับ ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ก๋อง (kongexist-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2014-10-14 20:07:50 IP : 223.205.99.93


ความคิดเห็นที่ 19 (3799380)

 สวัสดีคับ ผมเป็นนักศึกษาผมจะทำโปรเจกเกียวกับโรงเพาะเห็ดอะคับ อยากรู้ว่าเห็ดนางฟ้ากับเห็ดฟางอันไหนปลูกง่ายกว่ากันคับและวีธีการดูแลรักษาของเห็ดสองชนิดนี้ ชนิดไหนเป็นอย่างไรอะคับ ขอบคุณคับ

ผู้แสดงความคิดเห็น นักศึกษา (sutheplnw-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2015-04-18 10:16:33 IP : 223.207.249.60


ความคิดเห็นที่ 20 (3806823)

 ในความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าการเพาะเห็ดนางฟ้าง่ายกว่าการเพาะเห็ดฟางครับ เนื่องจากการเพาะเห็ดฟางต้องมีการหมักฟาง อบไอน้ำฆ่าเชื้อ ต้องมีดูแลมากกว่าเห็ดนางฟ้า 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2015-05-03 12:53:35 IP : 171.4.248.247


ความคิดเห็นที่ 21 (3883895)
สวัสดีค่ะ หนูเป็นนักศึกษาปี 4 จากมหิดล ตอนนี้มีความตั้งใจจะทำโปรเจคให้ความรู้และหุ่นจำลองเรื่องเห็ดพิษในประเทศไทยค่ะ อยากทราบว่ามีที่ใดที่หนูสามารถไปหาข้อมูล และขอ(หรือขอซื้อ)ตัวอย่างเห็ดพิษที่สำคัญได้บ้างคะ ตอนนี้หนูรวบรวมข้อมูลเรื่องเห็ดพิษอยู่ค่ะ แต่จำเป็นต้องใช้ตัวอย่างเห็ดจริงสำหรับนำมาทำหุ่นจำลอง และถ้ามีที่ใดที่เพาะเห็ดพิษหรือสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ก็อยากขออนุญาตไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ ขอความกรุณาท่านที่พอทราบ ช่วยแนะนำแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ปล. เห็ดพิษที่สำคัญหนูยึดตามข้อมูลของทางสมาคมฯ ได้แก่ชนิดดังนี้ค่ะ 1.เห็ดระโงกหินก้านลาย 2.เห็ดระงากขาวหรือเห็ดไข่ตายซาก 3.เห็ดเกล็ดดาว 4.เห็ดผึ้งท้องรุ 5.เห็ดหมวกจีน 6.เห็ดหัวกรวดครีบเขียว 7.เห็ดน้ำหมาก 8.เห็ดขี้ควาย 9.Entoloma conspicuum (ไม่ทราบว่าเห็ดเอนโตโลมา คอนสปิคัมนี้มีชื่อไทยหรือไม่คะ?)
ผู้แสดงความคิดเห็น มุก (maruk_r-dot-kanoknak-at-hotmail-dot-co-dot-th)วันที่ตอบ 2015-10-16 10:35:30 IP : 65.49.14.58


ความคิดเห็นที่ 22 (3888728)

 แหล่งข้อมูลเรื่องเห็ดพิษน่าจะมีที่พิพิทธภัณท์เห็ดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลองติดต่อดูครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2015-10-28 11:25:50 IP : 171.4.251.158


ความคิดเห็นที่ 23 (3967795)

 อยากทราบว่าถ้านำเห็ดนางฟ้าไปอบไมโคเวฟให้กรอปแล้วกินจะมีผลเสียและผลดียังไงบ้างคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น Puen วันที่ตอบ 2016-03-22 20:19:05 IP : 171.101.180.161


ความคิดเห็นที่ 24 (3975383)

 กินเห็ดนางฟ้าอบกรอบมีผลดีคือได้ไฟเบอร์ และได้สารที่เป็นประโยชน์ที่มีอยู่ในเห็ดนางฟ้าเช่นอีริต้าดีนิน โปรตีน ฯลฯ 

 การนำเห็ดอบกรอบด้วยไมโคเวฟ ไม่น่าจะมีผลเสีย เพราะว่ามีการนำผลไม้อบกรอบด้วยไมโคเวฟเหมือนกัน และไม่มีรายงานว่าเกิดผลเสีย

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2016-04-01 13:15:39 IP : 171.4.250.130


ความคิดเห็นที่ 25 (4071944)
cartierbraceletlove Our research and development team went to work to develop a great-tasting, quality pizza that is free of gluten.” The gluten-free pizzas are topped off-site, at a Celiac Sprue Association-approved facility, as to ensure. faux van cleef and arpels collier http://www.bijouxclassique.net/
ผู้แสดงความคิดเห็น faux van cleef and arpels collier (eghcfngpip-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2016-09-15 11:41:13 IP : 58.62.234.41


ความคิดเห็นที่ 26 (4081200)

 การพ่นยาฆ่ายุง ทำให้เห็ดตายไหมครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ป่าน (Vbd9-at-Hotmail-dot- Com)วันที่ตอบ 2016-10-11 10:51:17 IP : 180.183.179.17


ความคิดเห็นที่ 27 (4087084)

 การพ่นยาฆ่ายุง เข้าใจว่าเป็นแบบฉีดสเปย์ ถ้าฉีดขณะที่เห็ดเป็นดอก เห็ดจะดูดซึมสารเคมีเข้าในดอกเห็ด เป้นอันตรายกับคนกินมาก ถ้าฉีดสัมผัสดอกเห็ดโดยตรง ดอกเห็ดจะเฉาตายครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2016-10-28 14:10:57 IP : 171.4.250.107


ความคิดเห็นที่ 28 (4089067)

 สวัสดีครับ  พอดีผมอยากขอคำปรึกษาหน่อยครับ

ผมสนใจที่จะลองเปิดดอกเห็ดแบบทดลองก่อน ทดลองเลี้ยงที่บ้าน 
**ถ้าผมต้องกลับบ้านตจว.ช่วงเทศกาลหลายวันผมควรจะทำยังไงครับ สามารถทิ้งการดูแลรดน้ำได้ไหม แล้วมันจะส่งผลอย่างไรบ้าง**
 
ซึ่งตอนนี้ผมอยากทดลองเลี้ยงแต่ติดประเด็นนี้ครับ ใกล้จะปีใหม่แล้วด้วย ช่วยชี้แนะทีครับ
 
ขอบคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น ณัฐพล กล่ำใกล้ผล วันที่ตอบ 2016-11-03 20:03:31 IP : 171.5.180.25


ความคิดเห็นที่ 29 (4089182)

 ไม่่ได้ระบุว่าจะเพาะเห็ดช่นิดใด เข้าใจว่าจะเพาะเห็ดตระกูลนางฟ้านางรม ในการที่ไม่อยู่หลายวัน ขาดการดูแล ถ้าอยู่่ในระยะบ่มก้อน คือ ยังไม่เปิดปากถุง ให้ก้อนเห็ดอยู่ในที่ไม่โดนแสงและอากาศถ่ายเทได้ดี อุณหภูมิตามที่ชนิดเห็ดต้องการ จะไม่ทำให้เกิดการเสียหาย

      ถ้าอยู่ในระยะเปิดดอก ควรงดให้ความชื้น ก่อนไม่อยู่ 7-10 วัน รักษาความชื้นไว้ประมาณ 60-70% ไม่ควรให้มีแสง แต่ต้องให้อากาศถ่ายเทได้ดีพอประมาณไม่ต้องมาก 

     ลุงลีใช้ิวิธีทำน้ำหยดลงพื่นโรงเรือน ตั้งให้หยดช้้าๆ วัดความชื้น65% และพรางแสงให้มืดยิ่งมืดได้เท่าไรยิ่งดี เพราะว่าถ้ามีฝนตกทำให้ความชื้นในอากาศสูง ถ้าก้อนเห็ดไม่มีแสงกระตุ้นก็จะไม่ออกดอกทำให้เสียหาย 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2016-11-04 08:48:25 IP : 171.4.249.54


ความคิดเห็นที่ 30 (4091032)

 ขอถามผู้รู้หน่อยครับ ทีบ้านผมเพาะเห็ดบดจำหน่ายแล้วเกิดปัญหาขึ้นคือดอกเห็ดที่ออกมามีจุดสีน้ำตาลขึ้นตรงขาของเ็ดแล้วก็รามไปหาดอกเห็ด ในสว่นที่เปนมากจะมีนำ้เยิ้มตรงบริเวณขาและโคนเห็ด ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไรครับ และมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรบ้างครับ ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ปิยะพงค์ (badpeet-at-hotmail-dot-co-dot-th)วันที่ตอบ 2016-11-09 13:26:22 IP : 10.60.177.189


ความคิดเห็นที่ 31 (4094776)
ที่บ้านเจอปัญหาราเขม่าค่ะ ราสีดำเป็นฝุ่นๆ ลุกลามไปติดก้อนอื่นได้ ไม่ทราบจะแก้ปัญหาอย่างไรดีคะ รบกวนท่านผู้รู้ด้วยค่ะ
ผู้แสดงความคิดเห็น อารดา วันที่ตอบ 2016-11-20 11:54:17 IP : 118.172.127.62


ความคิดเห็นที่ 32 (4104035)

 คุณปิยะพงค์ ความคิดเห็นที่ 30 ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากราเมือกครับ

คุณอารดา ความคิดเห็นที่ 31 การแก้ไขปัญหาทำเช่นเดียวกับราเขียว อ่านทบทวนความคิดเห็นที่ 1-14 ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2016-12-11 22:43:25 IP : 171.4.235.14


ความคิดเห็นที่ 33 (4121544)

มือใหม่เริ่มเพาะเห็ดค่ะ  เห็ดที่เริ่มเพาะคือเห็ดภูฐานค่ะ ตอนนี้เปิดก้อนได้ประมาณ1สัปดาห์แล้วช่วงแรกเห็ดก้ออกดอกปกติค่ะ แต่พอเห็ดออกเริ่มเยอะเข้าและเจออากาศค่อนข้างเย็นเข้ามาอีก ดอกเห็ดก็เริ่มห่อตัวขึ้น บางก้อนดอกก้เริ่มแข็งๆ  อยากทราบว่าเกิดจากอะไรค่ะ ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ  

ปล.สภาพโรงเรือนด้านบนเป็นหลังคามุงจาก ด้านข้างใช้สแลนล้อม2ชั้นค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น thatsne วันที่ตอบ 2017-01-24 10:55:39 IP : 182.232.88.119


ความคิดเห็นที่ 34 (4129131)
ผมเคยเจอเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้เมื่อหลายปีที่แล้ว ดอกเห็ดหงิกงอห่อตัวขึ้นด้านบน เนื่องจากเป็นเห็ดเปิดดอกรุ่นแรก เข้าใจว่ากระทบกับอากาศเย็นจัดปรับตัวไม่ทัน รุ่นต่อไปดอกเป็นปกติไม่หงิกงอเหมือนรุ่นแรก บางก้อนดอกเริ่มแข็งเข้าใจว่าความชื้นไม่พอ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีอากาศเย็น ต้องตรวจสอบความชื้นครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น ลุงลี วันที่ตอบ 2017-02-05 23:33:02 IP : 171.4.251.230


ความคิดเห็นที่ 35 (4151869)

 สวัสดีค่ะ

มือใหม่เพิ่งเริ่มทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าค่ะ เริ่มเพราะในโอ่งน้ำค่ะ โดยศึกษาทำตามที่เขามีการแนะนำใน youtube แต่เห็ดออกดอกเป็นฝอย ๆ ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด และต้องทำอย่างไรต่อไป ขอผูรู้และมีประสบการณ์ช่วยแนะนำด้วยนะคะ  ขอบคุณมากค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น มือใหม่เพาะเห็ด (wbunparith-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2017-03-09 15:45:32 IP : 180.222.158.126


ความคิดเห็นที่ 36 (4209761)

 สวัสดีครับ ผมเพาะเห็ดนางฟ้าอยู่ เมื่อก่อนหยอดเชื้อก้อนเดินทุกก้อน จะพบก้อนเสียน้อยมาก แต่มาระยะหลังประมาน4-5ชุด หยอดเชื้อไปแล้วเชื้อไม่เดินเป็นบางก้อน เฉลี่ยโดยประมาน5-10%ของจำนวนก้อนทั้งหมด เคยลองทิ้งไว้10กว่าวันสีก้อนยังเหมือนเดิมไม่มีราเขียว ตอนแรกผมคิดว่าน่าจะนึ่งไม่สุกแต่มาคิดอีกทีไม่น่าจะใช่เพราะใช้เตาตัวนี้มานานแล้ว ไม่ทราบว่าสาเหตุในกรณีนี้เกิดจากอะไรครับ  ผมลองเปลี่ยนเชื้อข้าวฟางเป็นเจ้าอื่นก็ยังเป็น แล้วมีอีกอย่างในระยะหลังผมเปลี่ยนปูนขาวมาใช้โดโลไมท์แทนที่อัตราส่วนเท่าเดิมร้อยละ1 กับผมใส่กากน้ำตาลร้อยละ3ขีดครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Kudo วันที่ตอบ 2017-09-02 06:42:32 IP : 122.155.43.244


ความคิดเห็นที่ 37 (4222627)

 สวัสดีค่ะ คือเพาะเห็ดมาซักพักแล้วค่ะ แต่ก่อนเขี่ยเชื้อเห็ดนางฟ้าเดินทุกก้อน แต่ตอนนี้เชื้อเดินไม่ดีบางก้อนไม่เดิน เดินแล้วก็หยุด

ปปล.ช่วงนี้เปลี่ยนเตานึ่ง แล้วก็เปลี่ยนจากปูนขาวมาใช้โดโลไมท์ในสัดส่วนเท่าเดิมค่ะ ....เพิ่มเติมค่ะ ถ้าเป็นเพราะนึ่งไม่สุกก็ไม่เห็นมีราเขียวเลยค่ะ. ....วอนผู้ที่มีประสบการณ์ตอบให้ความรู้ด้วยค่ะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พิรุฬห์ (Pattaplaifa-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2017-11-02 17:46:35 IP : 223.205.249.103


ความคิดเห็นที่ 38 (4263426)

สวัสดีครับ คือผมพึ่งเริ่มเพาะเห็ดไม่นานแล้วผมทำเตานึ่งแบบใช้พลาสติกคุมแต่การส่งไอน้ำเกิดข้อผิดพลาดผมวัดอุณหภูมิได้เพียง 75 องศา ผมก็พยายามเร่งไฟให้ได้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นแต่ปรากฏว่าอุณหภูมิที่วัดได้ก็ไม่ถึง 80 องศาแต่รูที่ผมวัดอุณหภูมิอยู่ด้านบนสุด ผมเลยลองนึ่งถึง 30 ชั่วโมงผมอยากถามผู้มีประสบการณ์ว่าผมควรจะหยอดเชื้อไหมครับหรือจะทำการนึ่งใหม่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Akephet (Akephetsackkouna-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2018-07-19 15:22:00 IP : 27.55.3.97


ความคิดเห็นที่ 39 (4372826)

 ขอคำแนะรำการทำโรงบ่บก้อนเชื้อเห็ด

ผู้แสดงความคิดเห็น มานพ ทองมาก วันที่ตอบ 2020-04-23 17:06:38 IP : 134.196.60.208


ความคิดเห็นที่ 40 (4407751)

 พี่คะ  คือว่าพึ่งหัดเลี้ยงคะเห็ดงอกกลางถุงแต่ถุงไม่แตกนะคะ

ดอกไม่ออกทางปากถุงต้องทำยังงัยคะช่วยบอกวิธีหน่อยคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ต้นหอม (nongnung421-at-gmail-dot-com​)วันที่ตอบ 2020-11-04 09:27:37 IP : 49.230.162.138



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.