ReadyPlanet.com
dot
dot
ฟาร์มเห็ดที่เป็นสมาชิกสมาคม
dot
dot
รวมลิงค์เว็บเพื่อนบ้าน
dot
dot
ราคาเห็ดอ้างอิง
dot


การวางแผนจัดตั้งฟาร์มเห็ด โดย ดร.สัญชัย ตันตยาภรณ์ ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร

การวางแผนจัดตั้งฟาร์มเห็ด  

                                ดร.สัญชัย  ตันตยาภรณ์
ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

๑. คำนำ

จากปี พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการแนะนำอาชีพการเพาะเห็ดจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าอาชีพการเพาะเห็ดได้วิวัฒนาการเรื่อยมาอย่างค่อนข้างจะรวดเร็ว จากการเพาะเห็ดเพียงชนิดเดียว คือเห็ดฟางเมื่อครั้งกระโน้น เห็ดที่เพาะเป็นการค้าในขณะนี้มีมากกว่า๑๐ ชนิด ผลผลิตมีเข้าสู่ตลาดตลอดปี แทนที่จะมีเป็นฤดูกาลอย่างเช่นแต่ก่อน อาชีพการเพาะเห็ดได้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากอาชีพเสริมหลังฤดูการทำนาปีของชาวนาภาคกลางกลายมาเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรหลายๆ รายจากทุกภาคของประเทศ กิจการเกี่ยวกับการผลิตเห็ดมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดเพาะเห็ดเพียงวันละไม่กี่กองหรือมีโรงเรือนขนาดเล็กเพียงโรงเดียว ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนเป็นตัวเลข ๗ หลัก  ซึ่งกว่าอาชีพนี้จะก้าวเดินมาถึงขั้นนี้ก็ได้มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ แต่ละเรื่องถ้านำมาวิเคราะห์ดูแล้วจะพบว่าสาเหตุที่ทำให้การประกอบการประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น ไม่ได้เกิดจากโชคหรือเคราะห์แต่อย่างใด แต่ล้วนเกิดจากความเอาใจใส่ของ ผู้ประกอบการ บวกเข้ากับความพร้อมทางด้านความรู้หรือข้อมูล และความชำนาญหรือประสบการณ์ทั้งสิ้นคือถ้ามีครบถ้วนก็จะประสบความสำเร็จและถ้าขาดในจุดที่สำคัญก็จะล้มเหลวในที่สุด
ความรู้หรือข้อมูลได้จากการอ่าน การค้นคว้า แสวงหาด้วยตนเอง หรือจากผู้อื่น ส่วนประสบการณ์นั้นได้จากการสัมผัส คลุกคลีด้วยตนเอง ความรู้ที่จำเป็นในการผลิตเห็ดให้ประสบความสำเร็จได้แก่ความรู้ทางด้านเทคนิคการผลิต ความรู้ทางด้านการจัดการ และความรู้ทางด้านการวางแผนการผลิตและการวางผังฟาร์มล่วงหน้า
ความรู้ทางด้านเทคนิคการผลิตประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและความต้องการของเห็ดที่จะผลิต เช่นมีวงจรชีวิตเป็นอย่างไร  ในระยะบ่มเส้นใยต้องการอุณหภูมิ แสงสว่าง อากาศถ่ายเท มากน้อย แค่ไหน ความรู้ทางด้านการดูแลรักษาเช่น เห็ดที่จะเพาะต้องการอาหารประเภทไหน อาหารต้องเตรียม ต้องนึ่งอย่างไร ในการดูแลต้องให้น้ำหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ให้อย่างไร มีโรคและศัตรูที่สำคัญอะไรบ้างในระยะใดฯลฯ
ความรู้เกี่ยวกับการจัดการในระยะต่างๆของกระบวนการผลิตเช่น การจัดการเรื่องการจัดหาวัสดุเพาะ เครื่องทุ่นแรง แรงงาน และที่สำคัญที่สุดคือด้านการตลาด
ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การวางแผนการจัดตั้งฟาร์มหรือการผลิต เพื่อให้สามารถนำเอาความรู้ที่มีอยู่มาใช้ได้โดยเกิดประโยชน์สูงสุด และในขณะเดียวกันการจัดการก็ทำได้โดยง่ายช่วยให้การผลิตดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพคุ้มกับต้นทุน ปัญหาหลายปัญหาซึ่งเกิดกับหลายฟาร์มในขณะนี้สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ ถ้าได้มีการวางแผนที่ดีเมื่อเริ่มต้นตั้งฟาร์ม
ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่ได้ประมวลขึ้นจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแล้ว พบว่าปัจจุบันอาชีพการเพาะเห็ดได้วิวัฒนาการมาจนกลายเป็นธุรกิจประเภทหนึ่งแล้ว มีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ฟาร์มเห็ดจะต้องมีการจัดการที่ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด ในการที่จะทำให้ได้เช่นนี้จำเป็นอีกเช่นกันที่จะต้องมีการวางแผนและวางผังฟาร์มที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น

 ๒. ขั้นตอนที่สำคัญในการผลิตเห็ด

 ขั้นตอนการผลิตเห็ด

ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการวางแผนการจัดตั้งฟาร์มเห็ด ใคร่ขอทบทวนถึงขั้นตอนใหญ่ ๆ ที่สำคัญ ในการผลิตเห็ดและข้อมูลที่ต้องการเสียก่อนเพื่อเป็นพื้นฐาน เนื่องจากขั้นตอนเหล่านี้จะมีผลถึงการวางแผนและการจัดการฟาร์มเห็ดในขั้นต่อไปด้วย 

           ๒.๑ การเลือกชนิดของเห็ดที่จะผลิต การเลือกชนิดของเห็ดนี้เป็นขั้นแรกและสำคัญที่สุดเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนทั้งระบบ เกณฑ์ที่ใช้ในการเลือกชนิดของเห็ดที่จะผลิต ได้แก่ตลาด สถานที่ตั้งฟาร์ม ภูมิประเทศและภูมิอากาศ และความยากง่ายในการจัดหาวัสดุที่ใช้เพาะ ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปขยายความโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง 

           ๒.๒ การคัดเลือกแม่เชื้อ การคัดเลือกแม่เชื้อหรือแม่พันธุ์นี้เป็นการเตรียมการขั้นแรกของขบวนการทำเชื้อ สิ่งที่ควรคำนึงคือลักษณะประจำพันธุ์อันได้แก่ ผลผลิต คุณภาพ สีขนาดดอกและการตอบสนองต่ออุณหภูมิระดับต่าง ๆ เป็นต้นแม่เชื้อนี้สามารถเตรียมได้เองจากเนื้อเยื่อดอก จากสปอร์หรือจะซื้อหาจากแหล่งรวบรวมเชื้อพันธุ์ที่เชื่อถือได้ ทั้งของราชการและเอกชน แม่เชื้อเห็ดที่ดีจะต้องมีความบริสุทธิ์ทางด้านพันธุกรรม ไม่เป็นโรคไวรัส ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเก็บรักษาแม่เชื้ออย่างถูกหลักวิชาการเพื่อไม่ให้ติดโรค และไม่เกิดการกลายพันธุ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง 

           ๒.๓ การทำเชื้อเห็ด  เชื้อเห็ดในที่นี้หมายถึงเชื้อเพาะ  ซึ่งประกอบด้วยเส้นใยเห็ด และวัสดุซึ่งใช้เลี้ยงเส้นใย มีผู้ทำเชื้อเป็นจำนวนมากที่ให้ความสำคัญต่อวัสดุทำเชื้อมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน การผลิตเชื้อเห็ดฟาง แท้ที่จริงแล้วพันธุ์เห็ดที่ใช้มีความสำคัญที่สุด วัสดุที่ใช้ทำเชื้อมีความสำคัญรองลงมาโดยจะสนับสนุนให้เชื้อมีการเจริญในอัตราสูงมีความแข็งแรง และวัสดุบางอย่างง่ายต่อการใช้เพาะเชื้อเห็ดที่ดี ควรปลอดจากเชื้อปนเปื้อน อายุไม่มากเกินไป  และเส้นใยไม่ได้อยู่ในระหว่างการพักตัว เชื้อเห็ดที่ดีต้องผ่านการบ่มและเก็บรักษาอย่างถูกวิธี ก่อนนำมาใช้

           ๒.๔ การจัดเตรียมวัสดุเพาะเห็ด การเตรียมวัสดุเพาะเห็ดมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามชนิดของเห็ดที่จะทำการเพาะ พอจะแยกกว้าง ๆ ออกได้เป็นการเตรียมวัสดุที่จำเป็นต้องหมัก เช่น การทำปุ๋ยเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือนอบไอน้ำ หรือปุ๋ยเพาะเห็ดแชมปิญอง หรือแม้กระทั่งขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ ซึ่งจำเป็นต้องกองหมักทิ้งไว้ก่อน ส่วนการเตรียมวัสดุอีกประเภทหนึ่งได้แก่วัสดุที่ไม่จำเป็นต้องหมัก เช่นฟางสำหรับเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย และขี้เลื่อยไม้ยางพาราสำหรับเพาะเห็ดถุงชนิดต่าง ๆ เป็นต้น 
           ในการเตรียมวัสดุที่ต้องหมักนั้น ข้อมูลหรือความรู้ที่สำคัญคือ ขั้นตอนต่าง ๆ ของการหมักธาตุอาหารที่ต้องใส่เพิ่ม วิธีและเวลาในการกลับกอง การให้ความชื้น ข้อมูลเรื่องความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสม ลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีหรือธาตุอาหารของปุ๋ยเมื่อขบวนการหมักสิ้นสุดลงความหนาบางของชั้นปุ๋ยเมื่อใส่บนชั้นในโรงเรือน อุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสมในการอบไอน้ำเพื่อที่จะกำจัดศัตรูเห็ด และในขณะเดียวกันก็ปรับสภาพปุ๋ยหมักให้เหมาะสมกับชนิดของเห็ดที่จะเพาะไปด้วย
           ส่วนวัสดุที่ไม่ต้องหมักนั้น ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องทราบได้แก่ ลักษณะทางกายภาพลักษณะทางเคมีอันได้แก่ความเป็นกรดเป็นด่างปริมาณธาตุอาหาร การเติมอาหารเสริมและระดับความชื้น การบรรจุถุงและการนึ่งฆ่าเชื้อก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีผลต่อผลผลิตและความเสียหายอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนโดยเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น วิธีการใส่เชื้อและระบบการใส่เชื้อซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดของเห็ด เชื้อเห็ดบางชนิดใส่โดยหว่านหรือคลุกกับวัสดุเพาะและสามารถทำได้โดยง่าย เชื้อเห็ดบางชนิดต้องการความระมัดระวังอย่างยิ่งในการใส่เชื้อลงในถุง    มิฉะนั้นแล้วจะเกิดการปนเปื้อนเสียหาย เช่น เห็ดหอม

           ๒.๕  การดูแลรักษา ซึ่งเริ่มตั้งแต่การบ่มเชื้อ การบังคับให้ออกดอก การให้น้ำและการเก็บดอกข้อมูลที่จำเป็นต้องทราบได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่นปริมาณก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรดเป็นด่าง ในระยะความเจริญต่าง ๆ กันของเห็ดแต่ละชนิด
            จะเห็นได้ว่า ข้อมูลในขั้นที่ ๑ เป็นข้อมูลสำหรับการปฏิบัติการวันต่อวัน แต่ข้อมูลทั้งหมดมีความสำคัญและความหมายอย่างยิ่งต่อการวางแผนจัดตั้งฟาร์มเห็ดและการดำเนินกิจการต่อไปอย่างเป็นระบบ

๓. แผนและผัง

           ๓.๑ การวางแผนขั้นแรก: การคัดเลือกชนิดเห็ดที่จะเพาะ การคัดเลือกชนิดเห็ดนับว่าสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดถึงการวางผัง และแผนปฏิบัติการที่จะติดตามมา ในชั้นนี้รายละเอียดที่ต้องทราบเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจมีดังต่อไปนี้
                 ๓.๑.๑ เห็ดที่จะผลิตจะต้องได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะโดยที่ประชาชนในพื้นที่มีความคุ้นเคยอยู่เป็นอย่างดีแล้ว เช่นเห็ดพื้นเมืองชนิดต่าง ๆ หรือจะเป็นเห็ดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้พื้นที่รู้จักทั่วไป และเกิดความนิยมในการบริโภคขึ้นมา               
                 ๓.๑.๒ พื้นที่หรือสถานที่ตั้งฟาร์มจะต้องอยู่ไม่ห่างจากตลาดหรือแหล่งรับซื้อ การคมนาคมสะดวก 
                 ๓.๑.๓ ตลาดจะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับผลผลิต 
  ๓.๑.๔ สภาพภูมิอากาศ และสภาพภูมิประเทศเหมาะสมกับการผลิตเห็ดชนิดที่ต้องการ ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดต่างชนิดกันมีความต้องการอุณหภูมิในการเจริญของเส้นใยและการออกดอกไม่เท่ากัน ถ้าสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิไม่เหมาะสม ทำให้ต้องมีการปรับอุณหภูมิ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการผลิตยุ่งยากเพิ่มขึ้นไปอีก และมีต้นทุนสูงขึ้นไปด้วย               
  ๓.๑.๕ วัตถุดิบหรือวัสดุที่ใช้ในการเพาะเห็ด หาง่าย และมีราคาถูกซึ่งในปัจจุบันนี้ปัญหาอันเนื่องมาจากวัสดุเพาะหายากกำลังกลายมาเป็นปัญหาสำคัญของการเพาะเห็ดหลายชนิด ทั้งนี้เนื่องจากวัสดุสำหรับเพาะเห็ดหลายอย่าง เช่นขี้เลื่อย และขี้ฝ้าย มีราคาสูงขึ้น และหายากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงขึ้นถ้าฟาร์มเห็ดตั้งอยู่ในที่ห่างไกลจากแหล่งผลิตวัสดุเหล่านี้ เมื่อศึกษาข้อมูลโดยละเอียดแล้วจะสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกผลิตเห็ดชนิดใดได้ 

           ๓.๒ การวางผังฟาร์มเห็ด ใคร่ขอทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ความจำเป็นในการวางผังฟาร์มเห็ดนี้มีอยู่กับกิจการขนาดค่อนข้างใหญ่เท่านั้น สำหรับฟาร์มเห็ดขนาดเล็ก เช่นมีโรงเพาะเพียง ๑-๒ โรงหรือการเพาะเห็ดฟางแบบกลางแจ้งไม่จำเป็นต้องวางผังแต่อย่างใด แต่จะสามารถนำข้อมูลต่อไปนี้ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานได้  

 ผังฟาร์มเห็ดแชมปิญอง


ก่อนจะวางผังฟาร์ม ขอให้พิจารณาและวิเคราะห์ผังงานของฟาร์มเห็ดเสียก่อน

ผังฟาร์มเห็ดถุง
ทุกขั้นตอนของงานสัมพันธ์กัน แต่ต้องแยกออกจากกันโดยทางกายภาพ ทั้งนี้เนื่องจากงานของขั้นตอนหนึ่งอาจจะไม่สมพงศ์กับงานอีกขั้นตอนหนึ่ง หรือแม้กระทั่งทำให้เกิดความเสียหายได้ เช่นการเตรียมวัสดุ เป็นงานที่ค่อนข้างสกปรก ในขณะที่การผลิตเชื้อและใส่เชื้อเป็นงานที่ต้องการความสะอาดอย่างยิ่ง ดังนั้นงานทั้ง ๒ นี้ จะต้องแยกออกจากกัน แต่ต้องมีการวางผังให้สามารถปฏิบัติการประสานกันให้ได้โดยสะดวก

ผังฟาร์มเห็ดถุงระบบปิดทั้งหมด

เพื่อให้ชัดเจนขึ้นขอยกตัวอย่างผังฟาร์มเห็ดชนิดต่าง ๆ ประกอบการอธิบายดังต่อไปนี้

๔. บทสรุป
 
 การวางแผนการจัดตั้งฟาร์มเห็ดอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปโดยสะดวกราบรื่น ช่วยป้องกันปัญหาที่สำคัญหลายปัญหาด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค  และการระบาดทำลายของแมลงศัตรูเห็ด  การจัดการในทุกขั้นตอนทำได้โดยง่าย  และมีประสิทธิภาพสูงซึ่งนั่นหมายถึงความได้เปรียบในด้านประสิทธิภาพในการผลิตผลผลิตมีต้นทุนต่ำ อันหมายถึงผลกำไรที่จะติดตามมา ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของผู้ประกอบการเพาะเห็ดทั่วไป 
 




สื่อประชาสัมพันธ์

หลักการเพาะเห็ดถุงศูนย์ร่วมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก article
โปสเคอร์เห็ดพิษที่สำคัญในประเทศไทย
บัญชีรายการทรัพย์สินชีวภาพ (เห็ด)
สรรพคุณทางยาเห็ดหลินจือ
สรรพคุณทางยาเห็ดหอม
สรรพคุณทางยาเห็ดสกุลนางรม
สรรพคุณทางยาเห็ดฟาง
สรรพคุณทางยาเห็ดตีนแรด
สรรพคุณทางยาเห็ดโคนน้อย
สรรพคุณทางยาเห็ดโคน



Copyright © 2010 All Rights Reserved.

สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
  ตู้ ปณ.1094 ปทฝ เกษตรศาสตร์  กรุงเทพ   10903
โทรศัพท์ : 025611473 025790147; แฟกซ์ : 025790147 025795581      
อีเมล : Mushthai@hotmail.com
เว็บไซต์ : WWW.Thaimushroomsoc.com