ReadyPlanet.com
dot
dot
ฟาร์มเห็ดที่เป็นสมาชิกสมาคม
dot
dot
รวมลิงค์เว็บเพื่อนบ้าน
dot
dot
ราคาเห็ดอ้างอิง
dot


การศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายและการเกิดของเห็ดโคน ในสวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

การศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายและการเกิดของเห็ดโคน ในสวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
A study of local people knowledge on diversity and formation of Termitomyces spp. in Thong Pha Phum
plantation, Kanchanaburi Province

จิรนันท์  ธีระกุลพิศุทธิ์๑,
อมรศรี ขุนอินทร์๒,
จารุวรรณ  ขำเพชร๓

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับการปรากฏของเห็ดโคน (สกุล Termitomyces) ในสวนป่าทองผาภูมิ พื้นที่ศึกษาอยู่ที่บริเวณ ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านท่ามะเดื่อ บ้านไร่ป้า และ บ้านไร่ ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยแต่ละหมู่บ้านมีประชากรกลุ่มเด่นที่เป็นตัวแทน คือ ชาวไทย ชาวกระเหรี่ยง และชาวพม่า ตามลำดับ

ผลจากการศึกษารูปแบบการพึ่งพิงของเห็ดโคน พบว่าชนชาวพม่ามีการพึ่งพิงเพื่อการจำหน่ายสูงกว่ากลุ่มชนอื่น ๆ ขณะที่ภูมิปัญญาชาวบ้านของแต่ละเชื้อชาติเกี่ยวข้องกับการเกิดและลักษณะการเก็บของเห็ดโคนคล้ายกัน โดยมุ่งเน้นไปที่การเก็บโดยไม่ให้มีผลกระทบต่อการเกิดของเห็ดในอนาคต จากการสำรวจในบริเวณสวนป่าทองผาภูมิช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน พบเห็ดโคน ๓ ชนิดที่สามารถจำแนกชนิดได้คือ T. albuminosus, T. microcarpus, T. striatus และเห็ดโคนอีก ๑ ชนิดที่ยังไม่สามารถจำแนกชนิด (unknown) ได้
                                                                                               
๑ สาขาวิชาสัตววิทยา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ถนนมาลัยแมน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ๗๓๑๔๐
๒ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ถนนมาลัยแมน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ๗๓๑๔๐
๓ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สุขุมวิท ๒๓ กทม. ๑o๑๑o
 
บทนำ

ประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดรา (Fungi) ในสภาพธรรมชาติ แต่เนื่องจากเห็ดราไม่มีคลอโรฟิลล์ทำให้ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ จะต้องดูดซึมเอาอาหารจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวมาใช้ วิธีการดูดซึมเอาอาหารของเห็ดราแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิด โดยมีเห็ดราบางชนิดที่สามารถเข้าไปอาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นในรูปแบบของภาวะพึ่งพา (Mutualism) เช่น เห็ดโคน (Abe  et a.l, 2000) เห็ดโคน (Termitimyces) เป็นเห็ดที่มีการอาศัยอยู่ร่วมกันกับแบบพึ่งพาอิงอาศัยกับปลวก โดยเห็ดสามารถผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยเนื้อไม้ และยังเป็นแหล่งอาหารเสริมหรือวิตามินให้กับปลวกในธรรมชาติ จากรายงานการวิจัยพบว่าเห็ดช่วยเพิ่มปริมาณธาตุไนโตรเจนและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ปลวก (Hagashi et al., 1992) ลักษณะของการอยู่ร่วมกันของเห็ดโคนกับปลวกเป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจมาก เห็ดโคนจะเจริญเป็นดอกเห็ดเมื่อสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมและมีลักษณะจำเพาะโดยจะเกิดดอกเห็ดเฉพาะบริเวณรังปลวกเท่านั้น ดอกเห็ดจะเกิดจากเส้นใยซึ่งสร้างขึ้นมาจากสวนเห็ดรา (fungus garden หรือ fungus comb) โดยในปัจจุบันการเพาะเลี้ยงเห็ดโคนให้สร้างดอกเห็ดในโรงเรือนยังไม่สามารถกระทำได้ ทั้งนี้อาจมีปัจจัยบางประการที่เกี่ยวข้องระหว่างปลวกกับเห็ดโคนเป็นตัวการสำคัญ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงทำให้เห็ดโคนที่ซื้อขายกันในตลาดมีราคาแพง เนื่องจากต้องเก็บมาจากป่าและไร่นาตามธรรมชาติ (ณิศ, ๒๕๓๒) จากการสำรวจพื้นที่ป่าธรรมชาติต่าง ๆ ของโลกได้มีการถูกทำลายจนถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในแถบทวีปแอฟริกาและเอเชียซึ่งมีอัตราการเพิ่มของประชากรที่รวดเร็ว ส่งผลให้ป่าธรรมชาติ รวมทั้งสวนผลไม้ซึ่งเป็นแหล่งที่สำคัญของเห็ดโคนได้ถูกดัดแปลง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม บางส่วนถูกแปรสภาพเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ จนทำให้ระบบนิเวศดั้งเดิมและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อแหล่งกำเนิดของรังปลวกและปลวกที่เพาะเห็ดได้ รวมไปถึงเห็ดโคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง (สุทธิพรรณและคณะ, ๒๕๔๐) ความเป็นไปดังกล่าวชี้ให้เห็นแนวโน้มที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาเห็ดโคน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานและที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของเห็ดโคน ไม่ว่าจะเป็นป่าธรรมชาติ สวนผลไม้ และบริเวณอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมีการเจริญของปลวกควบคู่ไปด้วยจึงจะสามารถเกิดเห็ดโคนได้

การศึกษาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเห็ดโคนในแง่เกี่ยวกับการศึกษาข้อมูลปฐมภูมิโดยการสอบถาม และใช้แบบสำรวจเพื่อให้ทราบถึงชนิดของเห็ดโคน แหล่งและปริมาณที่พบ ซึ่งเป็นความรู้ความเข้าใจของชาวบ้านที่มีต่อการเกิดของเห็ดโคนในพื้นที่ป่าทองผาภูมิ โดยรวบรวมข้อมูลจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี แบ่งออกเป็น ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านท่ามะเดื่อ บ้านไร่ป้า และบ้านไร่ 

 แผนที่สำรวจเห็ดโคน

ภาพที่ ๑  ตำแหน่งและลักษณะของพื้นที่ที่ทำการเก็บข้อมูล
ที่มา: http://www.pointasia.com

 
วิธีการศึกษา

๑. สำรวจข้อมูลชาวบ้านในหมู่บ้านที่ทำการศึกษา
 ใช้แนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชน (Participatory Rural Assessment, PRA) จากนั้นทำการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อาศัยของแต่ละหมู่บ้าน (ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ๒๕๔๙)

๒. การสำรวจชนิดเห็ดโคนเบื้องต้น
การสำรวจชนิดเห็ดโคนเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในงานดังกล่าว (เดือนเมษายน – มิถุนายน ๒๕๔๙) อาศัยคนเก็บเห็ดท้องถิ่น จากคนที่แนะนำมาในของแต่ละหมู่บ้านในพื้นที่ศึกษา 


 
 การเก็บข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับความหลากหลายของเห็ดโคน
 
ภาพที่ ๒ การเก็บข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับความหลากหลายของเห็ดโคน

๓. การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์
การวิเคราะห์เชิงพรรณนา (descriptive analysis) เพื่อให้ทราบถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์จากเห็ดโคน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์จากเห็ดโคน และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative analysis) เพื่อทดสอบหาความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์กับการพึ่งพิงผลผลิตจากเห็ดโคน โดยวิธีไค-สแควร์ (chi-square) กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ โดยอาศัยโปรแกรมสำเร็จรูป spss/ pc+ (Statistical Package for the Social Science/ Personal Computer Plus)

ผลการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการสัมภาษณ์ทั้งสิ้น ๑

๓๗ ครัวเรือน พบว่ากลุ่มตัวอย่าง เป็นชาวไทยสูงสุด คิดเป็นร้อยละ ๓๗.๒ รองลงมาคือชาวกะเหรี่ยง ชาวลาว ชาวพม่า และชาวมอญ คิดเป็นร้อยละ ๒๑.๒, ๑๖.๑, ๑๖.๑, ๙.๕ ตามลำดับ

การสำรวจชนิดของเห็ดโคนเบื้องต้นในพื้นที่สวนป่าทองผาภูมิ
ลักษณะการขึ้นของเห็ดโคนมักพบตามเนินดิน เมื่อทำการขุดเนินดินดังกล่าวภายในพบว่าปลวกสร้างรังอยู่ใต้ดิน และจะพบว่ามีสวนเห็ดรา (fungus comb) ภายในรัง ซึ่งสร้างมาจากสิ่งขับถ่ายของปลวก แสดงดังภาพที่ ๓


 สภาพพื้นที่ที่พบเห็ดโคน

 
ภาพที่ ๓ ก. สภาพพื้นที่ที่พบเห็ดโคน ข. Fungus comb ที่พบภายในรังปลวก

 
การสำรวจพบเห็ดโคน (Termitomyces) ทั้งสิ้น ๔ ชนิด โดยตัวอย่างดังกล่าวบางส่วนได้จากการที่ชาวบ้านที่เก็บเห็ดโคนได้พาไปยังจุดที่เก็บ สามารถจำแนกชนิดได้ ๓ ชนิด แสดงดังตารางที่ ๑
 
ตารางที่ ๑ ความหลากหลายของเห็ดโคนที่พบในพื้นที่สวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ลำดับที่ ชนิดที่พบ
 ชื่อสามัญ
(Common name) ชื่อท้องถิ่น
(Local name) วงศ์
(Family) สกุล
(Genus) ชนิด
(Species)
๑ เห็ดโคนขายาว เห็ดโคนขายาว Tricholomataceae  Termitomyces    T. albuminosus
๒ เห็ดโคนข้าวตอก เห็ดโคนข้าวตอก Amanitaceae Termitomyces  T. microcapus
๓ เห็ดโคน เห็ดโคน Tricholomataceae Termitomyces T. striatus
๔ เห็ดโคน เห็ดโคน Tricholomataceae Termitomyces    Termitomyces sp.


 
Termitomyces  albuminosus

 ตัวอย่างเห็ดโคนชนิดดังกล่าวได้มาจากชาวบ้าน นำเข้าไปป่าและชี้จุดเก็บตัวอย่างเห็ดโคนชนิดดังกล่าวในบริเวณพื้นที่ป่าของโป่งพุร้อน
หมวก (cap หรือ pileus) : มีลักษณะเป็นรูปทรงโค้งนูนคล้ายกรวย ดอกอ่อนหมวกดอกงอลงคลุมก้านดอก เมื่อดอกเห็ดบานเต็มที่จะโค้งลงคล้ายร่ม มีขนาด ๕-๑๕ เซนติเมตร มียอดแหลม ผิวเรียบ ลื่น นิ่มและกรอบ ขอบหมวกดอกเรียบ บางดอกขอบหมวกมีรอยฉีกขาดหรือหยักเป็นคลื่น ดอกหมวกฉีกขาดง่าย ครีบดอก (gill หรือ lamella)  มีลักษณะเป็นแผ่นบางรียงอัดตัวกันแน่น ลักษณะเป็นครีบสั้นยาวสับว่างกัน ครีบมีสีขาวนวล ปลายครีบไม่แตะที่ก้าน (free) ใต้หมวกเห็ดมีครีบสีขาวหรือขาวครีม มีจำนวนครีบมาก (crowded) ก้านดอก (stalk หรือ stipe) มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาว ๕-๑๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓-๕ เซนติเมตร เนื้อแน่น สีขาวอมเทา มีรากเทียม (pseudorrhiza) เห็ดชนิดนี้ส่วนใหญ่จะเจริญเป็นดอกเดี่ยว แต่อยู่เป็นกลุ่มกลุ่มละ ๕-๑๐ ดอก บนดินจอมปลวกในพื้นที่ป่าโปร่งที่มีอินทรียวัตถุสูง พบในช่วงต้นฤดูฝน เป็นเห็ดที่รับประทานได้และมีสรรพคุณทางยาช่วยบำรุงกำลัง (Qi tonic) สปอร์ (Basidiospore) สปอร์มีลักษณะเป็นรูปวงกลมมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่  ผิวเรียบ สปอร์ในน้ำกลั่นสังเกตภายใต้กล้องจุลทรรศน์ใส  ไม่มีสี มีสปอร์สืบพันธุ์อยู่ภายนอกหรือด้านนอกของอวัยวะที่เรียกว่า basidium บนฐานเบสิเดียมจะสร้างก้านชูสปอร์หรือที่เรียกว่าสเตอริกมา sterigma 4 อัน ที่นิวเคลียสของสปอร์ทั้ง 4 อัน จะเคลื่อนไปอยู่ที่ส่วนปลายของสเตอริกมา ถือเป็นระยะการพัฒนามาเป็นเบสิดิโอสปอร์ (basidiospore)
 จำแนกชนิดโดยอ้างอิงตาม ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๓๙), เห็ดไทย (๒๕๔๗), เห็ดและราในประเทศไทย (๒๕๔๔) และเห็ดเป็นยา (๒๕๔๘) 
 




เทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตเห็ด

การเพาะเห็ดนางรมหัว
การเพาะเห็ดตับเต่าดำ
การพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่ Coprinus comatus (O.F.Müll.) Gray
ปริมาณวัสดุเพาะที่เหมาะสมต่อการให้ผลผลิตเห็ดกระด้างที่เพาะในถุงพลาสติก
การผลิตเห็ดภูฏาน
การวางแผนจัดตั้งฟาร์มเห็ด โดย ดร.สัญชัย ตันตยาภรณ์ ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร



Copyright © 2010 All Rights Reserved.

สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
  ตู้ ปณ.1094 ปทฝ เกษตรศาสตร์  กรุงเทพ   10903
โทรศัพท์ : 025611473 025790147; แฟกซ์ : 025790147 025795581      
อีเมล : Mushthai@hotmail.com
เว็บไซต์ : WWW.Thaimushroomsoc.com