แล้งมาเห็ดน้อย ฝนมาเห็ดล้น
องค์กรนาซาเตือนชาวโลกล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2558 ว่า กำลังจะเผชิญภัยแล้งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในปี 2559 ผู้คนกว่าสิบล้านจะหิวโหย เนื่องจากภาวะ “เอลนีโญ” และไม่ใช่ เอลนีโญ แบบธรรมดาแต่เป็น... “ซูเปอร์เอลนีโญ” !!! (คมชัดลึกออนไลน์ 10/5/59) ฤดูฝนอาจจะยืดออกไปถึงกลางปี รัฐบาลได้แจ้งเตือนเกษตรกรเตรียมรับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว
จากสภาพอากาศแห้งแล้ง และร้อนมาก ๆ ในเดือน มีนาคม-วันพืชมงคล 9 พฤษภาคม ส่งผลกระทบถึงการเพาะเห็ดในด้าน การเจริญของเส้นใยเห็ดช้าลง ในหัวเชื้อ เชื้อขยาย เส้นใยอ่อนแอเปิดโอกาสให้ศัตรูเห็ดทั้งหลายโดยเฉพาะ ราและไร จะเข้าทำลายเส้นใยเห็ด ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ผู้เพาะเห็ดต้องลดอุณหภูมิในโรงบ่ม เปิดระบายอากาศ ติดพัดลมระบายความร้อน ติดสปริงเกอร์บนหลังคาโรงเรือน ลดความหนาแน่นในโรงลง หรือไม่เรียงก้อนซ้อนสูง
แล้งมาเห็ดน้อย
ส่วนที่เส้นใยเจริญเต็มถุงเมื่อนำไปเปิดให้เกิดดอกในโรงเพาะ ส่งผลให้เห็ดเกิดดอกน้อยลง ผลผลิตต่ำ ในบางพื้นที่แล้งมากจนไม่มีน้ำในการผลิตก้อน ต้องหยุดผลิต จึงจำเป็นต้องขายก้อนที่พร้อมเกิดดอกให้กับผู้เพาะเห็ดที่มีน้ำพอที่จะใช้รดน้ำได้ นอกจากรดน้ำโรงเพาะตามปกติแล้ว ยังมีการเสริมสปริงเกอร์บนหนังคาโรงเห็ด เปิดน้ำทุกสองชั่วโมงในช่วงที่อุณหภูมิสูงสุดของแต่ละวัน หรือใช้โรงโรงอีแวป ทำให้ได้ดอกเห็ดเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการจัดการที่เพิ่มขึ้น
เห็ดสดไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาเห็ดพุ่งสูงขึ้น จากการสอบถามเกษตรกรในอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี แม่ค้าให้ราคาเห็ดหน้าฟาร์มในเดือน เมษายน-วันพืชมงคล 9 พฤษภาคม สูงกว่าปกติคือ เห็ดหูหนู 50-85 บาท/กิโลกรัม เห็ดนางฟ้า (ภูฏานและนางรม) 40-60 บาท/กิโลกรัม (ราคาหลังฝนตก-ฝนไม่ตกร้อน) เมื่อเทียบกับราคาค้าส่งตลาดไท ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 59 เห็ดนางฟ้า 130 บาท/กิโลกรัม เห็ดหูหนู 90 บาท/กิโลกรัม เห็ดฟาง 110 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่เห็ดเข็มทอง 50-80 บาท/กิโลกรัม (เพาะในระบบปิดใช้ความเย็นควบคุมอุณหภูมิ)
เกษตรกรผู้เพาะเห็ด ชนิดที่ชอบอากาศร้อน เช่น เห็ดบด เห็ดขอนขาว เห็ดฟาง ถ้ามีน้ำเพียงพอคงไม่ได้ผลรับผลกระทบมากนัก ไม่เหมือนเห็ดนางฟ้า หูหนู ที่ต้องปรับสภาพให้ผ่านพ้นวิกฤตกาลนี้ไปให้จงได้ รอจนฤดูฝนมาเยือนก็จะกลับมาเพาะเห็ดตามปกติ
ฝนมาเห็ดล้น
แต่ก็ไม่ควรประมาทต้องเตรียมรับมือกับสภาพอากาศในวสันต์ฤดูที่เอื้อต่อการเจริญของเห็ด หลังฝนแรกที่ชุ่มฉ่ำ อุณหภูมิลดลงไม่ร้อนแล้ว ความชื้นในอากาศสูงขึ้น ก้อนเห็ดที่ผ่าน“ซูเปอร์เอลนีโญ” มาได้ก็พร้อมที่จะเกิดดอกพร้อมกันทุกถุง ส่งผลให้ได้ดอกเห็ดจำนวนมาก เกินความต้องการของแม่ค้า ราคาก็จะตกอย่างคาดไม่ถึง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู หน้าฟาร์มเคยต่ำกว่า 10 บาท/กิโลกรัม ราคาจะปรับสูงขึ้นบ้างในกลางฤดูฝนแต่ไม่มากนักเพาะมีเห็ดป่าเกิดตามธรรมชาติออกสู่ตลาดเป็นระยะๆ สำหรับเห็ดนางฟ้า ควรหาแม่ค้าเพิ่มมากกว่า1ราย หรือหาตลาดสดอื่นรองรับ เช่น ร้านอาหาร ขายปลีกเอง รองรับดอกเห็ด แต่ถ้าเห็ดยังเหลืออีกก็คงต้องพึ่งการแปรรูป ฉีกตาก (เพิ่มลานตาก เตาอบพลังแสงอาทิตย์ อื่นๆ) ถ้าจะเก็บไว้นานต้องผ่านการอบให้แห้งสนิท ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเห็ดสวรรค์ในเทศกาลกิเจปลายฝนของทุกปี เห็ดหูหนูสามารถตากแห้ง จำหน่ายเป็นเห็ดแห้งได้
หวังว่าผู้เพาะเห็ดที่ได้อ่านบทความนี้คงจะผ่านพ้นภัยแล้งไปได้ และเตรียมรับมือกับปริมาณเห็ดในฝนแรกและตลอดฤดูฝนอย่างมีสติ มีรายได้เพิ่มขึ้นชดเชยในวิกฤตแล้งไปได้นะครับ
“เห็ดปลูกเริงร่าล้อพิรุณ เห็ดป่าผลิบานยามวสันต์ ฉันใด ผู้เพาะเห็ดเริงร่ากับธรรมชาติที่แปรปรวนได้ ฉันนั้น”
ปราโมทย์ ไทยทัตกุล
อุปนายกสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
วังเห็ด 70 ม.1 ต.ท่าตะคร้อ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี 76160